Page 26 - 10
P. 26
18 10 การประกันคุณภาพของหลักสูตรและการจัดการเรียนการสอน
• รูปแบบของการประเมินหลักสูตรและการจัดการเรียนการสอน
การประเมินหลักสูตรและการจัดการเรียนการสอนมีหลายทฤษฎีที่ใช้ในการประเมิน ขึ้นอยู่
กับว่าผู้ประเมินจะนำผลการประเมินไปใช้ประโยชน์เกี่ยวกับด้านใด ในที่นี้ขอนำเสนอ 2 รูปแบบ ดังนี้
❖ รูปแบบ CIPP Model ของ Daniel L. Stufflebeam
รูปแบบ CIPP Model นี้เป็นรูปแบบที่นิยมกันมากในการประเมินหลักสูตร โดยจะเน้น
ประเมินการตัดสินใจเลือกแนวทางด้านการศึกษาที่เหมาะสม 4 ด้าน ได้แก่
1. การประเมินบริบท (Context Evaluation : C) เป็นการประเมินที่มีจุดประสงค์เพื่อให ้
ได้หลักการและเหตุผลสำหรับนำมากำหนดจุดมุ่งหมาย การประเมินสภาพแวดล้อมจะช่วยให้ผู้พัฒนา
หลักสูตรรู้ว่าสภาพแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษามีอะไรบ้าง มีความต้องการหรือปัญหา
อะไรบ้างที่ยังไม่ได้รับการตอบสนองหรือแก้ไข มีโอกาสสรรพกำลังที่จำเป็นอะไรที่ยังไม่ได้ถูกนำมาใช้
ในการศึกษา เพราะอะไร โดยจะทำการประเมินใน 2 ประเด็น ได้แก่
1.1 การประเมินสภาพแวดล้อมภายนอกของหลักสูตร เป็นการประเมินเพื่อหาโอกาส
และแรงผลักดันจากภายนอกระบบให้ได้ข้อมูลมาใช้พัฒนาส่งเสริมหลักสูตรให้ดีขึ้น โดยมีการสำรวจ
ปัญหาอย่างกว้างขวาง เช่น การประเมินเอกสาร ได้แก่ ปรัชญา นโยบาย และแนวโน้มของการพัฒนา
ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ ค่านิยมของชุมชน สถิติประชากร อาคารสถานที่ เป็นต้น ซึ่งการ
สำรวจปัญหาเหล่านี้จะทำให้สามารถคาดการณ์เกี่ยวกับอนาคตและสามารถใช้ในการวางแผนต่อไป
1.2 การประเมินสภาพแวดล้อมภายในหลักสูตร เป็นการประเมินโดยการเปรียบเทียบผล
การปฏิบัติงานได้จริงกับวัตถุประสงค์ที่วางไว้ ซึ่งจะทำให้ทราบว่าวัตถุประสงค์ใดบ้างที่ ไม่สามารถบรรลุ
เป้าหมาย ประกอบด้วย การประเมินวัตถุประสงค์ของหลักสูตร โครงสร้างหลักสูตร เนื้อหาสาระของ
หลักสูตร เกณฑ์การวัดและประเมินผล
2. การประเมินปัจจัยนำเข้า (Inputs evaluation : I) เป็นการประเมินตัวป้อนที่จะทำให ้
หลักสูตรขับเคลื่อนไปอย่างมีคุณภาพ โดยจะประเมินเกี่ยวกับตัวหลักสูตร ครู ทรัพยากรและการ
สนับสนุน เพื่อให้ได้ข้อมูลสารสนเทศและนำมากำหนดวิธีการใช้ทรัพยากรต่าง ๆ ที่จะทำให้บรรลุ
วัตถุประสงค์ตามที่กำหนดไว้ การประเมินปัจจัยนำเข้ามีประโยชน์ในการนำมาใช้ในการตัดสินใจว่า
ระบบโครงสร้างต่าง ๆ ของหลักสูตร วิธีการและระบบการบริหารของหลักสูตรมีความเหมาะสมหรือไม่
หรือควรใช้วิธีใดที่เหมาะสมกว่า